ทฤษฎีหลักความร่วมมือ (Cooperative Principle) ของพอลไกรซ์

ทฤษฎีหลักความร่วมมือ (Cooperative Principle) ของพอลไกรซ์

เมื่อวานในดิสคอร์ดคุยกันเล่นๆ ว่า "ทำไมถามอย่างหนึ่ง แต่กลับได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย" เหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีของพอล ไกรซ์

พอล ไกรซ์ (Paul Grice) กล่าวในหนังสือ Logic and Conversation ว่าการสนทนาต้องมีกรอบหรือแนวทางในการพูดคุยที่ชัดเจนเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันและสามารถสื่อสารถ้อยความได้ เรียกว่า "ทฤษฎีหลักความร่วมมือ (Cooperative Principle)" ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กฎย่อย (maxim) ได้แก่

  1. ปริมาณ (Quantity) ผู้พูดควรให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเล่าข้อมูลมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  2. คุณภาพ (Quality) ผู้พูดควรพูดเฉพาะสิ่งที่เป็นจริง ไม่ควรพูดสิ่งที่เชื่อว่าผิดหรือพูดในสิ่งที่มีหลักฐานไม่เพียงพอ
  3. ความสัมพันธ์ (Relation) ผู้พูดควรพูดเฉพาะเรื่องที่สอดคล้องและเกี่ยวข้องกับประเด็นหลักในบทสนทนา
  4. วิธีการ (Manner) ประกอบด้วย
    - หลีกเลี่ยงการปิดบังข้อมูล
    - หลีกเลี่ยงถ้อยคำที่คลุมเครือ กำกวม
    - พูดให้ชัดเจน กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ
    - สื่อสารแบบมีลำดับขั้นตอน ไม่วกวนกลับไปกลับมา

การสนทนาเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ทั้งสองฝ่ายต้องมีบางสิ่งที่ยึดเป็นกรอบหรือแนวทางเพื่อให้การพูดคุยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ในชีวิตจริงผู้สนทนามักจะละเมิดกฎ (Violating the maxim) รวมถึงจงใจละเมิดกฎแบบมีนัย (Flouting the maxim) ส่งผลให้ผู้ฟังต้องพยายามตีความและค้นหาความหมายอื่นที่แฝงอยู่ในคำพูดนั้น (Implicature) ยกตัวอย่างเช่น

[1]

A: ซื้อขนมปังและแยมผลไม้หรือยัง
B: ซื้อขนมปังแล้วครับ

แม้ว่า B รักษา maxim เรื่อง
- คุณภาพ (Quality) ด้วยการพูดสิ่งที่เป็นจริง
- ความสัมพันธ์ (Relation) ด้วยการพูดเรื่องที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการ (Manner) ด้วยการพูดให้ชัดเจนและกระชับ
แต่ B กำลังละเมิด maxim เรื่องปริมาณ (Quantity) เนื่องจาก B ตอบแค่ว่าซื้อขนมปังเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าซื้อแยมผลไม้มาด้วย ดังนั้น A อาจตีความว่า B ลืมซื้อแยมผลไม้

[2]

A: ชั้นเรียนนี้มีนักศึกษา 100 คนไม่ใช่หรือ
B: วันนี้เป็นวันศุกร์

B กำลังละเมิด maxim เรื่องความสัมพันธ์ (Relation) เพราะ B ควรตอบแค่ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ B กลับตอบว่าวันนี้เป็นวันศุกร์เนื่องจากต้องการสื่อว่า "วันศุกร์เป็นวันสุดสัปดาห์ นักศึกษามักจะกลับบ้านเร็วกว่าปกติหรือไม่ก็โดดเรียน จึงทำให้มีจำนวนนักศึกษาน้อยกว่าปกติ"

[3]

A: เด็กก็คือเด็ก

A ละเมิดกฎเรื่องปริมาณ (Quantity) เนื่องจากให้ข้อมูลน้อยเกินไป
ความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้คือ "ในเมื่อยังเป็นเด็กอยู่ ย่อมมีความคิดและการกระทำเหมือนเด็กเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีความจำเป็นต้องกลุ้มใจแต่อย่างใด"


จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าในภาคปฏิบัติ การสนทนามักลงเอยด้วยการละเมิด maxim บ่อยครั้ง หากผู้พูดตั้งใจละเมิด maxim ผู้ฟังควรวิเคราะห์ว่าผู้พูดกำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างอยู่หรือไม่

เช่นคำว่า "กินข้าวหรือยัง" ไม่ใช่ประโยคคำถาม ผู้พูดไม่ได้ต้องการรู้ว่าอีกฝ่ายรับประทานอาหารไปแล้วจริงๆ หรือเปล่า หรือแม้แต่ประโยคที่ดูดีอย่าง "เสียงเปียโนไพเราะจัง" อาจจะไม่ใช่คำชม แต่เป็นการตักเตือนว่าเสียงดังหนวกหู หยุดเล่นเปียโนได้แล้ว