Curse of Knowledge - เมื่อความรู้ที่มากเกินไปไม่ใช่เรื่องดี

Curse of Knowledge - เมื่อความรู้ที่มากเกินไปไม่ใช่เรื่องดี


เมื่อวานในเซิร์ฟเวอร์ดิสคอร์ดมีกิจกรรมเล่นเกมเปิดแผ่นป้ายทายภาพ ผู้เล่นแต่ละคนมีสิทธิ์เปิดป้ายได้ 1 แผ่น และเลือกที่จะทายได้ว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพ screenshot จากเกมอะไร โดยแต่ละรอบจะจบลงเมื่อผู้เล่นคนใดคนหนึ่งทายชื่อเกมถูก

หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ มีบางรูปที่ผู้ตั้งโจทย์คิดว่ามันง่ายมากๆ ชนิดที่ว่าทุกคนน่าจะตอบได้กันหมด แต่ผลสุดท้ายกลับไม่มีใครทายชื่อเกมถูกเลยแม้แต่คนเดียว

คนเรามีแนวโน้มที่จะ ***คิดไปเอง*** ว่าเรื่องง่ายๆ แค่นี้ คนอื่นก็น่าจะรู้กันหมด แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจากความรู้ที่มีอยู่มากเกินไป เรียกว่า "คำสาปของความรู้ (Curse of Knowledge)"


ในปี ค.ศ. 1990 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ได้ทำการทดลองด้วยการแบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ 'ผู้เคาะ (tapper)' และ 'ผู้ฟัง (listener)'

ผู้เคาะจะได้รับมอบหมายให้เคาะโต๊ะเป็นจังหวะเพลง Happy Birthday ส่วนผู้ฟังต้องทายว่าผู้เคาะกำลังเคาะเพลงอะไรอยู่

ก่อนการทดลอง นักวิจัยได้ถามผู้เคาะว่าจะมีคนทายถูกประมาณกี่เปอร์เซนต์ ผู้เคาะคาดเดาว่าน่าจะมีคนทายถูกประมาณ 50% เพราะว่ามันไม่น่าจะยากอะไร แค่เพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์เอง แต่เมื่อการทดลองเสร็จสิ้นกลับได้ผลสรุปว่ามีผู้ฟังทายถูกเพียงแค่ 2.5% เท่านั้น

เหตุผลที่มีจำนวนผู้ฟังทายถูกต่ำกว่าที่ผู้เคาะประเมินไว้มากเป็นเพราะผู้เคาะมีความรู้อยู่ในหัวแล้วว่าตัวเองกำลังเคาะเพลงอะไร แต่ผู้ฟัง "ไม่มีความรู้" นั้นๆ อยู่ในหัว สิ่งที่พวกเขารับรู้มีเพียงแค่เสียงก๊อกๆ แก๊กๆ เท่านั้น

เมื่อคนเรารู้อะไรบางอย่าง เราจะจินตนาการไม่ออกว่าคนที่ไม่มีชุดข้อมูลนั้นอยู่ในหัวมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ความรู้ (Knowledge) จึงกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้สื่อสารหาคนที่ไม่รู้ได้ยากลำบากมากขึ้นราวกับคำสาป (Curse) นั่นเอง


ในชีวิตจริง Curse of Knowledge สามารถเกิดขึ้นกับทุกคน เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เก่งกาจและเชี่ยวชาญบางท่านอาจจะสอนไม่รู้เรื่อง เพราะพวกเขารู้มากเกินไปจน "ไม่เข้าใจ" ว่าคนที่ไม่รู้กำลังคิดอะไรอยู่

หรือแม้กระทั่งการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกลุ่มกับเพื่อนหรือเจ้านายสั่งงานลูกน้องก็ตาม หากผู้ส่งสาร(ผู้พูด/ผู้เขียน)ไม่ได้ตระหนักว่าตัวเองมี Curse of Knowledge ถ้อยความที่ต้องการสื่อออกไปอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะผู้รับสาร(ผู้ฟัง/ผู้อ่าน) เข้าใจไม่ตรงกันหรือไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่

ด้วยเหตุนี้ เราควรระลึกอยู่เสมอว่าไอ้เรื่องที่เราคิดว่าง่ายๆ พื้นเพดาษดื่นแค่นี้แหละ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนอื่น เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์และขอบเขตความรู้ที่ไม่เหมือนกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) จะทำให้เราเป็นคนเก่งที่สามารถถ่ายทอดการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่คนเก่งที่พูดไม่เป็น