เทคนิคการแปล Deverbalization

เทคนิคการแปล Deverbalization

การแปลเกมวิชวลโนเวลถือเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงสำหรับนักแปล เนื่องจากเกมวิชวลโนเวลเขียนโดยคนญี่ปุ่นและทำมาเพื่อคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมีถ้อยคำหรือประโยคที่ "แปลไม่ได้" เต็มไปหมด

หากนักแปลยึดติดกับถ้อยคำหรือรูปประโยคของภาษาต้นฉบับ สิ่งที่รอคอยอยู่มีเพียงอุปสรรคและทางตันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้นักแปลหลายคนจึงเลือกใช้เทคนิคที่เรียกว่า Deverbalization


เซเลสโกวิตซ์ (Seleskovitch) ได้นำเสนอทฤษฎีการแปลแบบยึดความหมาย โดยมีสมมุติฐานว่าการแปลไม่ใช่การถ่ายทอดโครงสร้าง (lexical) หรือตัวภาษา (language) แต่เป็นการถ่ายทอดสาร (message) รวมถึงความหมายที่แท้จริงที่ผู้เขียนต้องการสื่อจริงในบริบทของการใช้ภาษา (sense) เพราะภาษาเป็นเพียงภาชนะห่อหุ้มความหมายที่แท้จริงเท่านั้น

นักแปลต้อง "ผละออก" หรือ "ถอยห่าง" จากคำพูดในภาษาต้นทาง (source language) พยายามจับความหมายที่แท้จริงของผู้เขียน จากนั้นนำมาถ่ายทอดใหม่ (re-expression) ด้วยภาษาปลายทาง (target language) โดยปราศจากอิทธิพลของภาษาต้นทาง


กรณีศึกษา: เกม Sabbat of the Witch (サノバウィッチ) จากค่าย Yuzusoft ลิขสิทธิ์แปลภาษาอังกฤษโดย NekoNyan

อินาบะ เมกุรุ เป็นตัวละครรุ่นน้องที่มีนิสัยเหมือนเด็ก เกมถ่ายทอดให้เห็นผ่านคำสรรพนาม โดยปกติเธอจะใช้คำว่าจิบุน (自分) เรียกแทนตัวเอง แต่บางครั้งเธอก็หลุดปากใช้คำว่าเมกุรุ (めぐる) ที่เป็นชื่อของเธอ

ข้อความต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น:
「・・・因幡さんって、自分のことを 『めぐる』 って呼ぶの?」
คุณอินาบะเนี่ย [ใช้คำสรรพนาม]เรียกแทนตัวเองว่า "เมกุรุ" เหรอ

ข้อความแปลภาษาอังกฤษ:
"You still talk to your stuffed animals?"
เธอยังพูดคุยกับตุ๊กตาอยู่เหรอ

โดยปกติเด็กญี่ปุ่นนิยมใช้ชื่อของตัวเองเป็นคำสรรพนามเรียกแทนตัวเอง เช่น "มิฮิโระน่ะชอบสีชมพูมากเลย" แต่พอโตขึ้นก็จะเปลี่ยนไปใช้คำสรรพนามอื่นตามอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น วาตาชิ (私) โบคุ (僕) โอเระ (俺) หรืออื่นๆ แต่คำสรรพนามภาษาอังกฤษมีแค่ I เท่านั้น การแปลประโยคนี้จึงมีความท้าทายอย่างยิ่ง


หากนักแปลเลือกใช้เทคนิค Deverbalization และ Re-expression นักแปลต้องทำการวิเคราะห์เสียก่อนว่าความหมายที่แท้จริง (sense) คืออะไรกันแน่

「・・・因幡さんって、自分のことを 『めぐる』 って呼ぶの?」
คุณอินาบะเนี่ย [ใช้คำสรรพนาม]เรียกแทนตัวเองว่า "เมกุรุ" เหรอ

  1. ความหมายที่แท้จริงที่ต้องการสื่อ
    - ผู้พูดไม่ได้สนิทกับผู้ฟัง (เมกุรุ) มากขนาดนั้น เพราะยังเรียกชื่อเธอด้วยนามสกุลอินาบะ
    - ผู้พูดสงสัยว่าทำไมทั้งๆ ที่อายุขนาดนี้แล้ว ยังทำตัวเหมือนเด็กอยู่
    - ผู้พูดเพียงแค่สงสัยหรือประหลาดใจ ไม่ได้มีเจตนาเยาะเย้ยหรือถากถาง
    - ผู้พูดคิดว่านิสัยเหมือนเด็กอย่างการใช้ชื่อตัวเองเป็นคำสรรพนามเรียกแทนตัวไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
    - ผู้พูดส่งสัญญาณแบบอ้อมๆ ให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าถ้าเลิกได้ก็ควรเลิกทำนิสัยนี้
  2. ถ่ายทอดความหมายใหม่
    การเห็นตุ๊กตาเป็นเพื่อนหรือพูดคุยกับตุ๊กตาถือเเป็นหนึ่งในนิสัยของเด็ก โดยปกติเมื่อคนเราเติบโตขึ้นก็จะเลิกนิสัยนี้ไปเอง หากใครโตขึ้นมาโดยติดนิสัยนี้อยู่ก็จะเป็นที่ผิดสังเกตและอาจถูกล้อเลียนได้

ดังนั้น การแปลว่า "You still talk to your stuffed animals?" (เธอยังพูดคุยกับตุ๊กตาอยู่เหรอ) จึงถ่ายทอดความหมายที่แท้จริงของผู้เขียนต้นฉบับได้ มีความเทียบเท่ากัน (equivalence) ตรงตามความหมายที่ผู้เขียนประโยคต้นฉบับต้องการสื่อ แม้ว่าไม่มีส่วนไหนของต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นที่บอกว่าเมกุรุชอบคุยกับตุ๊กตาก็ตาม


Reference

Seleskovitch, D. (1978). Interpreting for International Conferences. (Eric Norman McMillan & Stephanie Dailey, Trans.). Washington DC. Pen & Booth.