ความเท่าเทียมกับการแปลภาษา

ความเท่าเทียมกับการแปลภาษา

มีคนสอบถามว่าในกลุ่มเกมวิชวลโนเวลต่างประเทศ ทำไมคนที่อ่านภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักถึงเอาแต่ด่าเกมเวอร์ชั่นแปลอังกฤษ คำตอบคือกลุ่มคนที่อ่านภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (target audience) ของเกมเวอร์ชั่นแปลตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


การแปลคือการแทนที่ข้อความในภาษาหนึ่งด้วยข้อความในอีกภาษาหนึ่งที่มีความหมายเท่าเทียมกัน โดยคำว่า "ความเท่าเทียม (equivalence)" สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. Formal equivalence - การแปลโดยยึดต้นฉบับเป็นหลัก เลือกใช้ถ้อยคำรวมถึงโครงสร้างให้ตรงกับภาษาต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  2. Dynamic equivalence - การแปลด้วยการปรับภาษาให้เป็นธรรมชาติ เหมาะสมและสอดคล้องกับผู้อ่านปลายทาง

เนื่องจากเกมวิชวลโนเวลเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง อีกทั้งผู้อ่านมีความรู้ภูมิหลัง (background knowledge) ความเข้าใจในวัฒนธรรม และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักแปลเกมวิชวลโนเวลส่วนมากจึงเลือกใช้แนวทางการแปลแบบ Dynamic equivalence เพื่อให้ผู้อ่านปลายทางทำความเข้าใจได้ง่าย


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเกม ATRI -My Dear Moments- ที่สร้างมาเพื่อคนที่ไม่เคยเล่นเกมวิชวลโนเวลมาก่อนโดยเฉพาะ (อ้างอิงจาก director) ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นพูดว่า

凜々花 「あたし、1年生の時 、桃太郎やったよ!」
ริริกะ: "ตอนที่ฉันเป็นนักเรียนปี 1 ฉันแสดงเป็นโมโมทาโร่ล่ะ!"

โมโมทาโร่เป็นนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี แต่นักแปลวิเคราะห์แล้วว่ากลุ่มผู้อ่านอาจจะเป็นมือใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก่อน รวมทั้งประโยคนี้เป็นแค่การบอกเล่าโดยทั่วไปที่ไม่ได้มีผลกระทบกับเนื้อเรื่องแม้แต่น้อย นักแปลจึงแปลประโยคดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า

Ririka: "I was the prince in Snow White when I was in first year!"
ริริกะ: "ฉันแสดงเป็นเจ้าชายในเรื่องสโนว์ไวท์ตอนที่ฉันเป็นนักเรียนปีหนึ่ง!"

ทั้งสองประโยคมีความหมายเท่าเทียมกัน เนื่องจากสโนว์ไวท์เป็นนิทานที่แพร่หลายและรู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ทันทีว่าเมื่อก่อนริริกะเคยแสดงละครเวทีในโรงเรียน


ผู้อ่านบางคน (โดยเฉพาะคนหน้าเดิมๆ ในกลุ่มวิชวลโนเวลต่างประเทศ) จึงไม่พอใจและด่ากราดว่า All translation is shit แปลโมโมทาโร่เป็นสโนว์ไวท์ได้อย่างไรกัน อาจจะมีผู้อ่านบางคนที่สงสัยว่าโมโมทาโร่คืออะไรแล้วไปค้นหาเพิ่มเติมก็ได้ ช่างไม่เคารพต้นฉบับเอาเสียเลย

ดังนั้น ความเท่าเทียม (equivalence) จึงกลายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอุดมคติและเป็นไปได้ยากในภาคปฏิบัติ นักแปลต้องหาจุดที่สามารถยอมรับได้ (acceptance) ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทที่จ้างนักแปลรวมถึงผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทุกคน