แชร์ประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้จากการสร้างกลุ่ม Facebook Group

แชร์ประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้จากการสร้างกลุ่ม Facebook Group

แชร์ประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้จากการสร้างกลุ่ม Facebook Group

พรุ่งนี้ (9 กันยายน) เป็นวันครบรอบ 1 ปีของกลุ่ม สนทนาภาษาญี่ปุ่นระดับกลาง-สูง (JLPT N3-N1) มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มมากถึง 12,700 คน ถือว่าเติบโตเร็วกว่ากลุ่มเฉพาะทาง (niche) อย่าง สนทนาประสาคนเล่นเกม Visual Novel ที่เปิดมา 3 ปีแต่มีสมาชิก 3,000 คนอย่างมีนัยสำคัญ

ต่อจากนี้เป็นบทเรียนที่ได้รับจากการสร้างกลุ่ม คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อยากสร้างชุมชนของตัวเองไม่มากก็น้อย


สิ่งที่ต้องรู้

  1. Facebook Group เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมากหากนำมาใช้ได้ถูกต้อง การรวมกลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่ อีกทั้งเป็นข้อมูลที่มีความจริงใจ (authentic) ที่หาไม่ได้จากแหล่งอื่น จะสืบค้นด้วย Google หรือ ChatGPT ก็ไม่มีทางได้คำตอบลักษณะแบบนี้
  2. การสร้าง Group ง่ายกว่า Page เพราะอัลกอริทึมของเฟซบุ๊คดันโพสต์ในกลุ่มมากกว่าเพจ
  3. Group กับ Page ไม่สามารถทดแทนกันได้ ข้อแตกต่างหลักคือสมาชิกใน Group อยากคุยกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น แต่ผู้ติดตาม Page อยากคุยกับแอดมินเพจมากกว่า
  4. ช่วงที่ยากที่สุดของการสร้าง Group คือตอนเริ่มต้น โจทย์ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้สมาชิกเข้าร่วมกลุ่มและเริ่มสนทนาพูดคุยในกลุ่มของเรา
  5. ความน่าเชื่อถือของแอดมินกลุ่มสำคัญมาก ถ้าเป็นมือใหม่โนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก คนจะตั้งคำถามว่าหมอนี่เป็นใครกัน แอดมินกลุ่มต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวตนค่อนข้างนานกว่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกคนในชุมชน
  6. unfair advantage ของการสร้าง Group คือถ้าเป็นคนที่มีฐานแฟนหรือฐานผู้ติดตามอยู่แล้ว ไม่เกินหนึ่งวันก็สร้างชุมชนได้ทันที ในขณะที่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเรียงนามต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำได้แบบเดียวกัน

วางแผนก่อนสร้างกลุ่ม

  1. Facebook Group จำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่กลุ่มสาธารณะ (Public) และกลุ่มปิด (Private) กลุ่มสาธารณะหมายถึงคนทั้งโลกเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก กลุ่มปิดหมายถึงเฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในกลุ่มได้ ทั้งสองแบบมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน
  2. กลุ่มสาธารณะมีข้อดีคือสามารถแชร์โพสต์ที่น่าสนใจออกไปนอกกลุ่มได้ ซึ่งดึงดูดให้คนเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ง่ายมาก ข้อเสียคือคนนอกวงการอาจไม่เข้าใจบางประเด็น อาจทำให้เกิดดราม่าร้อนแรงได้
  3. กลุ่มปิดมีข้อดีคือค่อนข้างมีความเป็นส่วนตัว สมาชิกกลุ่มพร้อมเปิดใจพูดคุยประเด็นอ่อนไหว (sensitive) มากกว่า อีกทั้งแอดมินกลุ่มสามารถควบคุมเนื้อหาได้ง่ายกว่า ข้อเสียคือแชร์เนื้อหาออกไปข้างนอกไม่ได้
  4. ถ้าไม่รู้ว่าจะสร้างกลุ่มแบบไหนควรเริ่มจากกลุ่มสาธารณะก่อน เพราะกลุ่มสาธารณะเปลี่ยนเป็นกลุ่มปิดได้ แต่กลุ่มปิดไม่สามารถเปลี่ยนเป็นกลุ่มสาธารณะได้ในภายหลัง

เริ่มสร้างกลุ่ม

  1. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์และเป้าหมายของกลุ่ม แอดมินกลุ่มต้องกำหนดทิศทางของกลุ่มอะไรสักอย่างที่เป็นรูปธรรม ทุกคนอ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเกี่ยวกับอะไร
  2. หน้าที่ของแอดมินกลุ่มคือการกำหนดกฎและกติกาของกลุ่มให้ชัดเจนว่าสมาชิกสามารถทำอะไรได้บ้าง และไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง (เช่น ไม่อนุญาตให้ขายของในกลุ่ม) โดยแอดมินต้องปฏิบัติตามกลุ่มที่ตัวเองตั้งไว้ด้วยเช่นกัน
  3. กฎพื้นฐานที่ต้องมีทุกกลุ่มคือไม่ให้แชร์โพสต์หรือไลฟ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น รับสมัครงานรายวัน เงินกู้ พี่คนนี้ใบ้ผลบอลแม่น อะไรทำนองนี้ลบทิ้งให้หมดอย่าให้เหลือ
  4. กฎต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ทั้งนี้ควรได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในกลุ่ม

ดูแลกลุ่ม

  1. เครื่องมือ Admin Assist มีประโยชน์มาก ลองตั้งค่าให้ดี ลดงานที่ไม่จำเป็นได้เยอะมาก (เช่น ถ้ามีคนกดปุ่ม report เกิน 4 คน ให้ลบคอมเมนต์นั้นโดยอัตโนมัติ)
  2. หน้าที่ของแอดมินคือกำกับไม่ใช่บงการ บางครั้งอาจจะมีอะไรแปลกๆ ที่ไม่เข้าท่าอยู่บ้างก็ต้องแกล้งหลับตาข้างหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็น
  3. การทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีข้อพิพาทขัดแย้งในกลุ่ม แอดมินกลุ่มควรลงมาคลี่คลายความขัดแย้งด้วยตัวเอง ต้องหาบทสรุปที่คนส่วนมากยอมรับให้ได้
  4. ถ้าแอดมินคนเดียวกลุ่มดูแลไม่ไหว ลองเปิดใช้ระบบ Post Approval หรือไม่ก็หา Moderator มาช่วยดูแลกลุ่มก็ได้
  5. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคนที่โดนด่าคนแรกสุดคือแอดมินเสมอ เพราะไม่มีทางทำให้ "ทุกคน" ถูกใจได้ ต่อให้ทำดีแค่ไหนก็โดนคนบางกลุ่มด่า เพราะฉะนั้นจงทำใจไว้ก่อน
  6. ริอ่านเป็นแอดมินกลุ่ม อย่าเกรงกลัวคำด่า

ทำให้กลุ่มเติบโต

  1. ช่วงแรกสุดของการสร้างกลุ่มจะไม่มีใครอยากพูดคุยด้วย แอดมินกลุ่มควรเปิดประเด็นสนทนาด้วยคำถามปลายเปิดง่ายๆ เช่น คิดอย่างไรกับ xxx หรือรู้จัก xxx ได้อย่างไร เป็นต้น
  2. วิชามารสำหรับกลุ่มสร้างใหม่คือไปสมัครไอดีสำรองมาพูดคุยกันเอง ถามคำถามบ้าง ปรึกษาปัญหาบ้าง แกล้งหาเรื่องทะเลาะก่อดราม่าบ้าง เมื่อสมาชิกเห็นว่ากลุ่มครึกครื้น สักพักจะมีคนมาร่วมวงสนทนาเยอะขึ้นจนไม่จำเป็นต้องใช้บัญชีม้าอีกต่อไป
  3. กลุ่มของผมไม่ได้ใช้วิธีนั้น เพราะผมบังคับ เอ๊ย ขอความร่วมมือให้คนที่สอบถามปัญหาทาง Inbox เพจมาตั้งกระทู้สอบถามในกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีการพูดคุยสนทนาอยู่ตลอดเวลา (จะบอกว่าเป็น unfair advantage ก็ได้มั้ง)
  4. แอดมินกลุ่มไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับทุกโพสต์ ควรปล่อยให้สมาชิกกลุ่มพูดคุยกันเองบ้าง
  5. ถ้า topic ของกลุ่มซ้ำกับกลุ่มอื่น แอดมินต้องหาสิ่งที่กลุ่มอื่นไม่มี แล้วโฆษณาจุดนี้ให้คนอื่นรับรู้ว่าแตกต่างจากกลุ่มที่ชื่อคล้ายๆ ในท้องตลาดกว่า 10 กลุ่มอย่างไร

อาจเป็นความโชคดีของผมที่กลุ่มไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัด (เช่น อายุ การศึกษา ภาษา ความยากของตัวเนื้อหา) ที่คัดกรองคุณภาพของสมาชิกกลุ่มในตัวไปแล้ว ถ้าเป็นกลุ่มที่คนทุกเพศทุกวัย ใครๆ ก็เข้ามาได้อย่างเช่นกลุ่มเกมกาชา ทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่าวุ่นวายมากกว่านี้ไม่ต่ำกว่าสิบเท่า