องค์ประกอบของโครงเรื่องที่ดี

องค์ประกอบของโครงเรื่องที่ดี

มีสมาชิกทางบ้านสอบถามว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของเกมวิชวลโนเวลคืออะไร อันที่จริงทุกองค์ประกอบมีความสำคัญทัดเทียมกัน แต่ถ้าให้เลือกเพียงหนึ่งสิ่งที่เป็นแกนกลางสำคัญ ผมขอตอบว่า "โครงเรื่อง (plot)"

โลกสมมุติในนิยายรวมถึงเกมวิชวลโนเวลคือแบบจำลองโลกความเป็นจริงที่สะเปะสะปะ อลหม่าน ไม่มีระเบียบ และไม่ต่อเนื่องกัน การวางโครงเรื่องให้เป็นระบบและมีลำดับชัดเจนช่วยลดความสับสน รวมทั้งเพิ่มความน่าสนใจให้กับเนื้อเรื่องได้


โครงเรื่องที่ดีประกอบด้วย 4 องค์ประกอบย่อย ดังนี้

1. ความสมจริง

คำว่าสมจริงในที่นี้ไม่ใช่การทำให้เหมือนความเป็นจริง แต่หมายถึง "ความน่าเชื่อถือ" ทุกการกระทำต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีเหตุผลและตรรกะรองรับ

เราทุกคนทราบดีว่ามนุษย์บินไม่ได้ หากเขียนเนื้อเรื่องว่าคนบินได้ก็ต้องอธิบายขอบเขตและข้อจำกัดให้ชัดเจน

เช่น สามารถบินได้สูงแค่ไหนและนานแค่ไหน ต้องใช้อุปกรณ์เสริมหรือพลังอะไรบ้าง ทุกคนในโลกสมมุติสามารถบินได้หรือไม่ ทุกคนบินเก่งเหมือนกันหมดหรือไม่ เป็นทักษะติดตัวตั้งแต่กำเนิดหรือฝึกฝนในภายหลัง ต้องจ่ายทรัพยากรอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยน (เช่น ความเหน็ดเหนื่อย/มานา/ค่าพลังงานบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ/พลังเวท) เป็นต้น

2. การคาดไม่ถึง

หากมีแค่ความสมจริงเพียงอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดก็จะเป็นเพียงบันทึกกิจวัตรประจำวันที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ เนื้อเรื่องที่สมบูรณ์ต้องมีเรื่องราวที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง เพื่อเพิ่มความน่าตื่นเต้นและชวนให้ติดตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องระมัดระวังอย่าให้การคาดไม่ถึงขัดแย้งกับความสมจริงของเนื้อเรื่อง

3. ความซับซ้อน

หากเป็นเนื้อเรื่องสั้นครึ่งหน้ากระดาษเอสี่อาจจะไม่ได้จำเป็นอะไรมาก แต่เกมวิชวลโนเวลเป็นเนื้อเรื่องขนาดยาว ความซับซ้อนจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ช่วยปลุกเร้าอารมณ์ของผู้อ่าน

โครงเรื่องที่ดีต้องกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ ปูเนื้อเรื่องให้นำไปสู่ปมปัญหาหรือความขัดแย้งที่ยากต่อการคาดเดา ทำให้ผู้อ่านอยากรู้เรื่องราวว่าดำเนินต่อไปอย่างไรและจบลงเช่นไร

4. ความเป็นเอกภาพ

เรื่องราวหรือเหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงต้น ช่วงกลางเรื่อง และช่วงท้ายต้องสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน อาจมีโครงเรื่องย่อยที่ไม่เกี่ยวข้องแทรกกึ่งกลางอยู่บ้าง แต่ตอนจบต้องสัมพันธ์กัน

กรณีเกมวิชวลโนเวลที่แตกกิ่งก้านเนื้อหาเป็นหลายรูท (เส้นทาง) เนื้อหาในแต่ละรูทควรสอดคล้องกัน ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยคือเนื้อหาสองรูทขัดแย้งกันเองเพราะใช้นักเขียนหลายคน หรือสไตล์การเขียนแตกต่างกันจนเหมือนเล่นคนละเกม ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับที่จำเป็นต้องควบคุมทิศทางของเกมให้ดี