รีวิวการสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP (กรกฎาคม 2022)
เนื่องจากวางแผนไว้ว่าปีหน้าจะลองหาทุนเรียนต่อ ป.โท บวกกับคะแนนสอบภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในตอนนี้หมดอายุไปแล้ว (เมื่อสองปีก่อนเคยสอบ TOEIC ได้ 885/990) แต่ยังไม่อยากจ่ายเงินแพง ผมเลยเลือกสอบ CU-TEP ที่ค่าสอบถูกที่สุด แค่ 900 บาท มาเก็บไว้ก่อน
CU-TEP เป็นการสอบภาษาอังกฤษที่จัดทำขึ้นโดย ม.จุฬา คะแนนเต็ม 120 คะแนน ข้อสอบเป็นข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกทั้งหมด ประกอบด้วย 3 Part ได้แก่
Listening 30 ข้อ | 30 นาที | 30 คะแนน
Reading 60 ข้อ | 70 นาที | 60 คะแนน
Writing 30 ข้อ | 30 นาที | 30 คะแนน
สนามสอบค่อนข้างเข้มงวด เปิด-ปิดประตูห้องสอบเป็นเวลา ใครมาช้าหมดสิทธิ์สอบ อีกทั้งซีเรียสเรื่องการแต่งกาย และที่สำคัญคือห้ามเอากระเป๋า นาฬิกาข้อมือ มือถือ รวมถึงเครื่องเขียนทุกชนิดเข้าห้องสอบ ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น (ในห้องสอบมีดินสอ/ปากกา/ยางลบเตรียมไว้ให้แล้ว)
1. Listening
ข้อสอบการฟังของ CU-TEP รีบมากๆ คุณพี่จะรีบไปไหน พูดข้อแรกจบปุ๊บ ยังไม่ทันฝนคำตอบลงกระดาษ พูดโจทย์ข้อสองต่อแล้ว ผมติ๊กคำตอบที่ถูกต้องไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาฝนลงกระดาษคำตอบทีหลัง
ข้อสอบมีบทพูดหลายหัวข้อ ทั้งบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวันและบทบรรยายเชิงวิชาการทที่พบได้ในข่าว ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบวัดทักษะคำศัพท์ด้วย เช่น ในบทสนทนาพูดว่า rational แต่ในชอยส์เขียนว่า be reasonable ต่อให้ฟังออก แต่ถ้าไม่รู้คำศัพท์ก็ไม่มีประโยชน์
เรื่องที่ประหลาดใจคือมีชอยส์เขียนในกระดาษคำถามทั้งหมด 30 ข้อ ทำให้สามารถเดาล่วงหน้าได้ว่าโจทย์จะถามอะไร
2. Reading
ตอนเปิดดูโครงสร้างข้อสอบ ตกใจมาก ข้อสอบ 60 ข้อแต่มีเวลาให้ทำแค่ 70 นาที หารออกมาแล้วตกข้อละนาทีกว่าๆ เท่านั้น จะทำทันมั้ยเนี่ย แต่เอาเข้าจริงพบว่าข้อสอบง่ายมาก หลายข้อถามตรงๆ กวาดตาแปปเดียวก็ตอบได้เลย ผมใช้เวลาแค่ 55 นาทีเท่านั้น เหลือเวลาว่างไว้ทบทวน 15 นาที
ข้อสอบมีบทความทั้งหมด 6 บทความ ประกอบด้วยหัวข้อที่หลากหลาย ทั้งเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สังคม วิทยาศาสตร์ อย่างเช่นในรอบนี้เป็นบทความเกี่ยวกับปัญหา homeless ในนิวยอร์ค กลุ่ม anti-vaxx ต่อต้านการฉีดวัคซีน และประวัติศาสตร์อาหารในประเทศอเมริกา เป็นต้น
ส่วนตัวผมคิดว่าคำศัพท์ใน CU-TEP ยากกว่า TOEIC หนึ่งระดับเต็มๆ เพราะเป็นคำศัพท์เชิงวิชาการ (academic) แต่โดยรวมผมคิดว่าไม่ได้ยากอะไรเลย เพราะผมอ่านข่าว หนังสือ และงานวิจัยภาษาอังกฤษเป็นประจำ เจอคำศัพท์ประเภทนี้บ่อยมาก
แต่ถ้าให้เด็ก ม.6 มาทำข้อสอบ ผมคิดว่าน่าจะทำได้ประมาณ 65-75% และไม่น่าจะทำทันทุกข้อ เพราะข้อสอบให้เวลาไม่เยอะมาก
3. Writing
แม้ชื่อจะบอกว่า Writing แต่จริงๆ แล้วเป็นการสอบ Error Identification ทั้งหมด 30 ข้อ กล่าวคือมีประโยคยาวๆ มาให้หนึ่งประโยค ขีดเส้นใต้ 4 คำ และให้เลือกว่าคำไหนเขียนผิด เช่น She [are] a student. คำว่า are ผิดไวยากรณ์ ต้องแก้เป็น is (ข้อสอบของจริงยากกว่านี้ 10 เท่า)
โดยปกติการทำข้อสอบรูปแบบนี้ต้องไปท่องหลัก Grammar แต่ผมไม่เคยท่องจำไวยากรณ์เลย อาศัย sense ตลอด อ่านประโยครอบเดียวแล้วรู้ทันทีว่าคำไหนผิด รู้ด้วยว่าต้องแก้เป็นอะไร แต่ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักไวยากรณ์ได้ว่าทำไมถึงผิด
มีอยู่ข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ โจทย์เขียนประมาณว่า "Police [founded] victim…" ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า founded ผิด เพราะคำว่า founded แปลว่าก่อตั้ง เช่น I founded a new company. ฉันก่อตั้งบริษัทใหม่ (founded เป็นรูปอดีตของ found)
คำที่ถูกต้องคือ found เฉยๆ ไม่มี -ed ต่อท้าย ดังนั้นนอกจากแม่นไวยากรณ์แล้วต้องรู้คำศัพท์ด้วย found (ก่อตั้ง) กับ found (ค้นพบ เป็นรูปอดีตของ find) เขียนเหมือนกันแต่ความหมายไม่เหมือนกัน
โดยรวม CU-TEP ถือเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษที่ดีและมีมาตรฐาน แต่ข้อเสียคือใช้ได้แค่ในไทยเท่านั้น ถ้าจะไปเรียนต่อเมืองนอกต้องสอบอย่างอื่นที่มีมาตรฐานมากกว่า เช่น TOEIC, TOEFL, IELTS เป็นต้น
ไว้โอกาสหน้าจะลองสอบ TOEIC ใหม่อีกรอบ อยากได้สัก 950 คะแนนขึ้นไป ไม่น่าจะยาก เพราะผมใช้ภาษาอังกฤษทุกวันอยู่แล้ว ตอนนี้รอลุ้นคะแนน CU-TEP โชคดีที่ประกาศผลสอบเร็วมาก อีกสองสัปดาห์ข้างหน้าก็รู้ผลสอบแล้ว