เรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ (?)
วันนี้ไม่ได้มาสอนภาษาญี่ปุ่น แค่มาบ่นเฉยๆ ครับ
เมื่อวานผมเขียนบทความเรื่อง 偏差値 หรือคะแนนมาตรฐาน ซึ่งผมพยายามเขียนให้สั้นกระชับและอ่านง่าย แต่กว่าผมจะเข้าใจคะแนนมาตรฐานและเขียนบทความได้ เล่นผมซะปวดหัวเลย
ตอนที่ผมหาข้อมูล ทุกเว็บให้ข้อมูลตรงกันหมด นั่นคือ
คะแนนมาตรฐาน T(i) = 10(i-E(x))/δ(x)+50
โดยที่ δ(x) = √(E(x^2)-(E(x))^2)
พอเห็นสูตรข้างบน ผมนี่แบบ... หน่าหนีเดอะฟัค นี่มันอะไรกันเนี่ย?! อะไรคือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน อะไรคือความแปรปรวน ผมต้องกลับไปทบทวนความรู้พื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ใหม่ทั้งหมด
เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึงถึงตอนที่ผมเป็นนักเรียนขึ้นมาครับ
ย้อนกลับไปวัยเรียน ผมมีเจตคติที่ไม่ค่อยดีกับวิชาคณิตศาสตร์ระดับม.ปลาย เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ชีวิตประจำวันก็ใช้แค่บวกลบคูณหาร เศษส่วน-ทศนิยมและเปอร์เซ็นต์ คงไม่มีใครไปตลาดแล้วบอกว่า "ลุง เอาผักกาด (2+3i) ชิ้น" หรือคำนวณหาค่า det (ดีเทอร์มิแนนต์ของเมตริกซ์) ก่อนซื้อของหรอก
ผมเลยเรียนวิชาคณิตศาสตร์แค่ "พอผ่าน" ซึ่งก็ผ่านมาได้แบบกระท่อนกระแท่น
น่าเสียดาย ทั้งหมดเป็นแนวความคิดที่ผิดอย่างมหันต์
เวรกรรมตามทัน คณิตศาสตร์ย้อนกลับมาเล่นงานผมยับเยินเลย
ทุกวันนี้ผมจำเป็นต้องใช้ความรู้คณิตศาสตร์มาพัฒนาโปรแกรม อย่างเช่นการหมุนก็ต้องคำนวณมุมองศา sin cos tan มาครบเลย หรือบางเรื่องอย่างเวคเตอร์ก็นำมาใช้ในการคำนวณทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุ (ผมเคยสงสัยว่า dot product เรียนไปทำไม ตอนนี้เจอเต็มๆ เลย)
นอกจากนี้ เรื่องที่ผมสังเกตได้คือคนที่เก่งคณิตศาสตร์จะมีอัลกอริทึม (แนวความคิด) ที่เป็นระบบมากกว่า ยกตัวอย่างตอนฝึกเขียนโปรแกรม จริงอยู่ที่ว่าผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน แต่โค้ดของเพื่อนผมที่เก่งคณิตศาสตร์นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าอย่างชัดเจน (ถ้าพูดศัพท์เทคนิคก็คือค่า Big-O ต่ำกว่า)
แม้ว่าความรู้เหล่านี้สามารถเรียนเพิ่มเติมทีหลังได้ แต่ไม่ว่ายังไง ผมก็ไม่มีทางเก่งเท่ากับคนที่เชี่ยวชาญคณิตศาสตร์ได้อยู่ดี ป่านนี้ครูสอนคณิตฯคงหัวเราะเยาะด้วยความสะใจพร้อมพูดว่าสมน้ำหน้า ไม่ตั้งใจเรียนเอง ช่วยไม่ได้
ดังนั้น วิชาความรู้ต่างๆ เรียนไปเถอะครับ วันนี้อาจจะยังไม่ได้ใช้ แต่สักวันหนึ่งในอนาคต ถ้าได้ใช้จะต้องนึกขอบคุณอย่างแน่นอน